19/7/54

ตัวอย่าง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 4 ศึกนันทบุเรง


เนื้อเรื่องย่อ

ภายหลังการประกาศเอกราชของพระนเรศ ในปี พ.ศ. ๒๑๒๗ แล้ว พระเจ้า หงสาวดีนันทบุเรงได้โปรดให้กรีฑาทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาคืนเป็นเมืองขึ้นถึง ๔ ครั้ง คือ ในคราวศึกพระยาพะสิมและพระเจ้าเชียงใหม่นรธาเมงสอ ในปี พ.ศ. ๒๑๒๗ – ๒๑๒๘ ศึกนันทบุเรงปี พ.ศ. ๒๑๒๙ ศึกมหาอุปราชาในปี พ.ศ. ๒๑๓๓ และศึกยุทธหัตถีในปี พ.ศ. ๒๑๓๕ โดยศึกสำคัญที่ทำอยุธยาต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์อันสุ่มเสี่ยงต่อการ สิ้นสูญแผ่นดินคือ ศึกนันทบุเรง ซึ่งน้อยคนที่เคยได้ยินหรือระลึกได้ แต่วีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชซึ่งเป็นที่จดจำ ทั้งการออกปล้นค่ายพม่าจนเป็นที่มาของเรื่อง พระแสงดาบคาบค่าย หรือการสังหารลักไวทำมู ทหารเอกข้างหงสาวดี ล้วนอุบัติในศึกนันทบุเรงทั้งสิ้น

ภาพยนตร์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๔ “ศึกนันทบุเรง” ถ่ายทอดเรื่องราวอันเป็นผลจากการปราชัยของหงสาวดีในคราวศึกพระยาพะสิมและพระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งทำให้พระเจ้านันทบุเรงทรงตระหนักในพระปรีชาสามารถของสมเด็จ พระนเรศวร และในความเข้มแข็งของกองทัพอยุธยา จึงทรงยกทัพใหญ่เป็นทัพกษัตริย์มาย่ำยีราชธานีสยามหวังให้ราบเป็นหน้ากลองเพื่อเป็นการแก้มือ และเพื่อรักษาซึ่งพระเกียรติยศ มิให้เป็นที่ดูแคลนแก่เหล่าเจ้าประเทศราชในการปกครองของฝ่ายพม่า

ภาพยนตร์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวร ในทุกตอนที่ผ่านมาจนถึงตอนที่ 4"ศึกนันทบุเรง"นั้นล้วนมุ่งฟื้นอดีตอันเป็นวีรกรรมของวีรกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรอยุธยา ซึ่งได้ทรงประกอบพระราชภารกิจอันเป็นคุณูประการต่อแผ่นดินเป็นสำคัญ นั่นคือการประกาศและการรักษาเอกราชของชาติเอาไว้

หลักฐานในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาและพงศาวดารพม่าระบุตรงกันว่า ภายหลังการประกาศเอกราชในปี พ.ศ.2127 แล้วนั้น พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงได้โปรดให้กรีฑาทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาคืนเป็นเมืองขึ้นถึง 4 ครั้งคราว คือ ในคราวศึกพระยาพะสิมและพระเจ้าเชียงใหม่เมงนรธาสอ ในปี พ.ศ. 2127/28 ศึกนันทบุเรงปี พ.ศ.2129 ศึกมหาอุปราชาในปี พ.ศ.2133 และศึกยุทธหัตถีในปี พ.ศ.2135 ในศึกทั้ง 4 ครั้งตามกล่าว ศึกที่นำพาให้ราชอาณาจักรอยุธยาต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์อันสุ่มเสี่ยงต่อการ สิ้นสูญแผ่นดินคือศึกนันทบุเรง กระนั้นก็ดี เมื่อออกนามศึกนันทบุเรงจะมีคนไทยน้อยคนที่เคยได้ยินหรือระลึกได้ แต่หากระบุถึงวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไม่ว่าจะเมื่อครั้งออกปล้น ค่ายพม่า จนเป็นที่มาของเรื่องพระแสงดาบคาบค่าย หรือการออกรบบนหลังอาชาจนสังหารลักไวทำมูทหารเอกข้างหงสาวดีได้ ทั้งหมดเป็นวีรกรรมที่ล้วนอุบัติในคราวศึกนันทบุเรงทั้งสิ้น ด้วยเหตุประการฉะนี้ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคลจึงมุ่งพลิกฟื้นวีรกรรมแห่งการปกป้องเอกราชของวีรกษัตริย์ผู้เรืองนาม พระองค์นี้ในคราวศึกนันทบุเรงให้ปรากฏบนแผ่นฟิล์ม เพื่อจารึกเกียรติประวัติครั้งนั้นไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย และเพื่อความสมบูรณ์ของมหากาพย์การสร้างตำนานสมเด็จพระนเรศวร

ภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรตอน "ศึกนันทบุเรง" นั้นดำเนินเรื่องตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์โดยนำแสดงที่มาแห่งศึกซึ่งยึดโยงจากผลการปราชัยของหงสาวดีในคราวศึกพระยาพะสิมและพระเจ้าเชียงใหม่ ความพ่ายแพ้ครั้งนั้น ทำให้พระเจ้านันทบุเรงทรงตระหนักในพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระนเรศวรและความเข้มแข็งของกองทัพอยุธยา จึงทรงตัดสินพระทัยยกทัพใหญ่เป็นทัพกษัตริย์มาย่ำยีราชธานีสยามให้ราบเป็นหน้ากลองเพื่อเป็นการแก้มือและเพื่อรักษาซึ่งพระเกียรติยศมิให้เป็นที่ดูแคลนแก่เหล่าเจ้าประเทศราชในขอบขัณฑสีมาพุกามประเทศ ภาพยนตร์ได้ตีแผ่ให้เห็นว่าศึกนันทบุเรงครั้งนั้นพม่ายกเข้ามาเป็นทัพกษัตริย์ กองทัพจึงมีความสมบูรณ์ยิ่งใหญ่น่าเกรงขามกว่าทุกศึก หลักฐานข้างพม่าระบุว่ากองทัพพระเจ้านันทบุเรงประกอบด้วยช้าง 3,200 ทัพม้า 12,000 และไพร่ราบซึ่งมีจำนวนถึง 252,000 ในกองทัพนี้ยังมีนายทัพผู้ปรีชาสามารถตามติดมาร่วมรบ ไม่ว่าจะเป็นพระมหาอุปราชา มังจาปะโร หรือแม้แต่ลักไวทำมูทหารกล้า

ภาพยนตร์ยังได้ตีแผ่ให้เห็นว่า กิตติศัพท์ความยิ่งใหญ่ที่น่าเกรงขามของทัพหงสาวดีที่ยกเข้ามาครั้งนั้นส่ง ผลให้เจ้าเมืองประเทศราชในขอบขัณฑสีมาของราชอาณาจักรอยุธยาข้างฝ่ายเหนือ ประหวั่นพรั่นพรึงถึงกับสมคบคิดกันแปรพักตร์ไปเข้าข้างฝ่ายพระเจ้านันทบุเรงรบกับสมเด็จพระนเรศวร เป็นเหตุให้สมเด็จพระนเรศวรต้องเผชิญทั้งศึกนอกและศึกใน สถานการณ์กลับยิ่งบีบคั้นให้คับขันยิ่งขึ้นเมื่อพระศรีสุธรรมราชา พระอนุชาเจ้ากรุงละแวกซึ่งขัดพระทัยสมเด็จพระนเรศวรแต่กาลก่อน ได้ยุยงให้พระเชษฐาตัดสัมพันธไมตรีกับอยุธยาจนเป็นเหตุให้ละแวกกลายมาเป็น หอกข้างแคร่ ที่พร้อมจะกระหน่ำซ้ำเติมกรุงสยามให้ย่อยยับหากมีอันพลาดท่าเสียทีในศึกนันทบุเรง

ภาพยนตร์ได้ลำดับให้เห็นถึงภัยรอบด้านที่บีบรัดให้สมเด็จพระนเรศวรทรงต้อง เผชิญศึกอย่างโดดเดี่ยว แต่เคราะห์กลับทับทวีคูณเมื่อสหายศึก เช่น เลอขิ่น และกำลังเมืองคัง ซึ่งร่วมกรำศึกกันมาแต่เบื้องต้นคิดถอนตัวตีจากเนื่องจากพิษรักระหว่างรบที่ จบลงด้วยความร้าวฉานระหว่างเลอขิ่นกับพระราชมนูขุนศึกคู่พระทัย ความขัดแย้งด้วยเหตุส่วนตัวได้บานปลายกลายเป็นภัยของแผ่นดินในคราวคับขัน เมื่ออยุธยาต้องเผชิญศึก ซึ่งประมาณได้ว่าเป็นมหาสงครามภายใต้โทสจริตของพระเจ้านันทบุเรง

ด้วย ข้อจำกัดที่รุมเร้าหลายประการ ผสานกับจำนวนไพร่พลที่เป็นรองหงสาวดีอยู่หลายขุม ทำให้สมเด็จพระนเรศวรทรงจำต้องปรับยุทธศาสตร์การตั้งรับทัพหงสาวดีเสียใหม่ โดยทรงใช้พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีทำเลที่ตั้งที่ได้เปรียบเป็นฐานบัญชาการรบแต่เพียงแห่งเดียว โดยทรงส่งกำลังออกไปปักปราการ วางแนวป้องกันมิให้พม่าเข้ามาปลูกค่ายใกล้ขอบคูพระนครและกำแพงเมือง ทั้งยังแต่งกำลังเป็นกองโจรเข้าปล้นค่ายข้าศึกอย่างอาจหาญ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ได้ทรงถ่ายทอดยุทธนาการครั้งสำคัญนั้นลงบนแผ่นฟิล์มได้อย่างเต็มตาตื่นใจโดย เฉพาะตอนที่สมเด็จพระนเรศวรทรงคาบพระแสงดาบขึ้นปีนปล้นค่ายพม่า ภาพห่าธนูเพลิงที่สาดซัดและกองทัพนับพันนับหมื่น ปีนพะองขึ้นชิงค่าย ทั้งหมด คือ ความอลังการที่ผู้ชมจะได้สัมผัสในตำนานสมเด็จพระนเรศวรตอนศึกนันทบุเรงนี้

เมื่อศึกเหนือเสือใต้รุมกระหน่ำ ขุนนางผู้ใหญ่ขาดสามัคคีคิดคดคำนึงแต่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง จอมทัพผู้รั้งราชบัลลังก์และความอยู่รอดของแผ่นดินก็มาพลาดท่าต้องศาสตรา กลางสมรภูมิศึก ยอดทหารเอกกรุงศรีถูกขุนศึกผู้ชาญณรงค์กว่าจับเป็นเชลย ชะตากรรมกรุงศรีอยุธยา และสมเด็จพระนเรศวรจะลงเอยอย่างไร ต้องติดตามในภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๔ “ศึกนันทบุเรง” กำหนดฉายพร้อมกันทั่วประเทศ 11 สิงหาคมนี้

ขอบคุณเนื้อเรื่องย่อจากหนังดีดอทคอม

ตัวอย่างหนัง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น